การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมไทย
วัฒนธรรม
เป็นสิ่งที่คนในสังคมยึดถือปฏิบัติสืบต่อกันมาเป็นเวลานาน จนกลายเป็นมรดกทางสังคม
แต่เนื่องด้วยยุคสมัยเปลี่ยนไป ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมวัฒนธรรม
ดังนั้นการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมจึงเป็นสิ่งสำคัญ
เพราะวัฒนธรรมที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศ
ย่อมเป็นอุปสรรคต่อการสร้างความเจริญก้าวหน้าของประเทศได้
การปรับปรุงเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมไทย
วัฒนธรรมไทยที่มีมาแต่อดีตของสังคมไทยที่ควรเปลี่ยนแปลง
1.การทำงาน คนไทยมักทำงานจับจด ชอบทำงานสบายที่ได้เงินดีโดยไม่ต้องเปลืองแรง
มักโทษโชคชะตาที่ไม่เข้าข้างตน ไม่มีระเบียบวินัย สิ่งที่จะต้องสร้างให้เกิดขึ้น
คือ
1.1ความขยันและอดทน
ทำงานหนักและพึ่งตนเอง พื้นฐานของความสำเร็จของชีวิตและสังคมจะขึ้นอยู่กับความขยันและอดทนของแต่ละคนเป็นสำคัญ
ในระบบการศึกษาของชาติที่พัฒนา เช่น ยุโรป สหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น
ได้สอนให้คนในชาติขยัน อดทน ทำงานหนัก มาตั้งแต่เล็ก
นักเรียนต้องศึกษาอย่างจริงจัง ต้องใช้เวลากับวิชาต่างๆอย่างมากพอ
ต้องอดทนต่อการเรียนอย่างเต็มที่ ดังนั้นความสำเร็จในการศึกษาของนักเรียนของชาติที่พัฒนาจึงขึ้นอยู่กับความขยัน
การอดทนและการทำงานหนักของเด็ก
และสิ่งนี้จะถูกปลูกฝังและสะสมไปจนกระทั่งเติบโตเป็นผู้ใหญ่
เมื่อคนในชาติเหล่านี้มีคุณภาพสูงมาตั้งแต่ต้น
พวกเขาก็จะกลายเป็นกลไกสำคัญที่จะผลักดันให้ชาติของเขาเจริญก้าวหน้าและมีพัฒนาการดีขึ้นตลอดเวลา
1.2การมีระเบียบวินัย ในสถาบันการศึกษาต้องสอนให้เด็กปฏิบัติตามระเบียบวินัยอย่างเคร่งครัด
ตั้งใจเรียน แต่งกายถูกระเบียบ
ไม่คุยกันหรือใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ขณะอยู่ในห้องเรียน ซึ่งผลที่เกิดขึ้นก็คือ
เด็กจะกลายเป็นผู้ใหญ่ที่มีระเบียบวินัย ทำตามกฎเกณฑ์และกติกาต่างๆของสังคมได้อย่างถูกต้อง
2.ความเป็นระบบและบูรณาการ สังคมไทยจะสอนให้คนมองแบบแยกส่วน
ไม่เชื่อมต่อกัน ไม่นิยมการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่ม สิ่งที่ควรปรับเปลี่ยนคือ
การมองสิ่งต่างๆ ให้มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน เช่น การเรียนรู้ของนักเรียนไม่ควรจำกัดอยู่เพียงแต่วิชาการในห้องเรียนเท่านั้น
สิ่งอื่นๆที่ไม่ใช่วิชาการโดยตรง เช่น ศิลปะ ดนตรี พลศึกษา การทำงานบ้าน
การบำเพ็ญประโยชน์ การทำงานร่วมกับชาวบ้าน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
ควรจะนำมาเชื่อมโยงและชี้ให้เห็นถึงความสำคัญ ที่เท่าเทียมกันกับวิชาในชั้นเรียน
กล่าวคือ ในกระบวนการเรียนการสอน นักเรียนจะต้องถูกเข้มงวดในเรื่องวิชาการ
แต่ในในขณะเดียวกัน นักเรียนจะต้องเคร่งครัดในเรื่องการทำกิจกรรมในโรงเรียน
สอนให้รักธรรมชาติ สอนให้ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน อบรมการเข้ากลุ่ม
และการเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน
3.ระบบอุปถัมภ์ ความสัมพันธ์ในลักษณะของการอุปถัมภ์ค้ำจุนกันระหว่างบุคคลในสังคมไทยถือเป็นวัฒนธรรมที่หยั่งรากฝังลึกกันมานาน
การคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานมักแต่งตั้งจากผู้ที่อยู่ใกล้ชิดหรือคนที่โปรดปรานเป็นพิเศษ
โดยไม่คำนึงถึงความรู้ความสามารถของบุคคลเป็นเกณฑ์
มีการแลกเปลี่ยนผลประโยชน์ซึ่งกันและกันด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีการพัฒนาประเทศไทยไม่ก้าวไปข้างหน้าเท่าที่ควร
ดังนั้นจึงควรมีการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมระบบอุปถัมภ์ให้เป็นระบบคุณธรรม
ดังเช่นที่มีการใช้กันอยู่ทั่วไปในประเทศพัฒนา ได้แก่
ยึดถือความรู้ความสามารถเป็นเกณฑ์ในการคัดเลือกบุคคล
ปฏิบัติต่อบุคคลอย่างเสมอหน้ากันโดยใช้ระเบียบและมาตรฐานเดียวกัน
เปิดโอกาสให้ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน
ยึดมั่นในเส้นทางที่ถูกต้องและเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
4.การฉ้อราษฎร์บังหลวง ในสังคมไทยการฉ้อราษฎร์บังหลวงเป็นปัญหาที่เรื้อรังมานาน
ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ทราบกันโดยทั่วไป เช่น
การจ่ายสินบนเพื่อให้ได้การผูกขาดกิจการบางประเภท
การยักยอกเงินค่าธรรมเนียมโดยไม่นำเงินส่งหน่วยงาน การรับเงินค่านายหน้า
เมื่อมีการจัดซื้อของในหน่วยงาน การสมยอมกันในการจัดซื้อจัดจ้าง
หรือสิทธิในการดำเนินการเพื่อจัดหาสินค้าและบริการสาธารณะ
อันทำให้มิได้มีการแข่งขันกันเสนอประโยชน์สูงสุดแก่หน่วยงานของรัฐ
และประเทศชาติอย่างแท้จริง ฯลฯ
การฉ้อราษฎร์บังหลวงไม่เคยสร้างคุณค่าหรือประโยชน์ให้แก่สังคม
แต่กลับทำลายศีลธรรมและจริยธรรมของชุมชน ทำให้การจัดสรรและการใช้งบประมาณขาดประสิทธิภาพ
ทรัพยากรซึ่งควรจะนำไปใช้สร้างบริการสาธารณสุขที่ดี บริการการศึกษาที่ดี
บริการสาธารณูปโภคที่ดี ฯลฯ กลับต้องไปตกอยู่ในมือของบุคคลจำนวนน้อย
ซึ่งจะหมายถึงการสูญเสียโอกาสที่ดีสำหรับการพัฒนาประเทศ
ดังนั้นสิ่งที่ควรสร้างขึ้นคือ การสร้างและปลูกฝังจิตสำนึกที่ดีให้เกิดขึ้นแก่คนไทยตั้งแต่เด็ก
รณรงค์ให้ประชาชนได้ตระหนักถึงภัยของ การฉ้อราษฎร์บังหลวง
สร้างช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชนเพื่อการแจ้งเบาะแสและร้องเรียนเกี่ยวกับ
การฉ้อราษฎร์บังหลวง และมีมาตรการตรวจสอบและลงโทษผู้กระทำผิดอย่างเข้มงวด แม้ว่าจะเป็นนักการเมืองและข้าราชการระดับสูงก็ตาม
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น