ลักษณะและความสำคัญของวัฒนธรรมไทย
วัฒนธรรมไทยเป็นเอกลักษณ์ของความเป็นชาติไทย
เป็นผลรวมจากความรู้ ความคิด สติปัญญาของมนุษย์
ที่สั่งสมสืบต่อกันมาโดยผ่านการปรับปรุงพัฒนาให้เหมาะสมต่อการเปลี่ยนแปลงตามยุคสมัยของสังคมไทย
ทั้งวัฒนธรรมเดิมของไทยและวัฒนธรรมที่ได้รับอิทธิพลจากชนชาติต่างๆ
ซึ่งถูกนำมาปรับปรุง ผสมผสาน และกล่อมเกลาจนเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยไปในที่สุด
วัฒนธรรมไทยมีลักษณะและความสำคัญที่สะท้อนค่านิยม ดังนี้
1.สร้างความรักและความผูกพันในครอบครัว ตัวอย่างเช่น วันสงกรานต์ซึ่งเป็นวันขึ้นปีใหม่ของไทยในอดีตนั้น
ความรักและความผูกพันจะแสดงออกมาโดยบิดามารดาและญาติผู้ใหญ่จะจัดเสื้อผ้าชุดใหม่ให้แก่บุตรธิดา
พร้อมเครื่องประดับตามฐานะเพื่อไปทำบุญ
ขณะที่บุตรธิดาจะจัดเสื้อผ้าให้บิดามารดาและญาติผู้ใหญ่ได้สวมใส่หลังพิธีรดน้ำดำหัว
ส่วนในปัจจุบันคนไทยจะกลับบ้านเพื่อรดน้ำและขอพรจากบิดามารดา
และญาติผู้ใหญ่เพื่อความเป็นสิริมงคลต่อชีวิต
2.ความเคารพกตัญญูต่อผู้ใหญ่
และผู้มีพระคุณ วิถีชีวิตไทยถือเอาความกตัญญูต่อผู้ใหญ่
และผู้มีพระคุณเป็นสิ่งสำคัญสูงสุด การตอบแทนพระคุณจะแสดงออกมาได้หลายรูปแบบ เช่น
การบรรพชาอุปสมบทของชายไทยเพื่อตอบแทนพระคุณบิดามารดาที่ได้เลี้ยงดูอุ้มชูมาแต่เล็กจนโต
หรือการระลึกถึงพระคุณของบรรพบุรุษในวันสารทไทย
โดยจัดพิธีบังสุกุลเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้แก่ผู้มีพระคุณที่ล่วงลับไป
3.ความศรัทธาในการทำบุญให้ทาน ในวันสำคัญทางศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาบูชา วันอาสาฬหบูชา เป็นต้น
คนไทยแต่ละครอบครัวจะเตรียมของสำหรับทำบุญตักบาตรด้วยจิตใจศรัทธา นอกจากนี้การทำบุญยังเป็นสิ่งที่คนไทยถือปฏิบัติก่อนการเริ่มงานประเพณีต่างๆ
เช่นวันสงกรานต์ วันลอยกระทง วันเข้าพรรษา ฯลฯ ความศรัทธาในการทำบุญ
ยังจะเห็นได้จากการจัดให้มีการทอดกฐิน
การทอดผ้าป่าเพื่อให้พระสงฆ์ในพระพุทธศาสนาได้มีสิ่งของเครื่องใช้อันจำเป็นเพื่อการปฏิบัติธรรม
ด้วยศรัทธาในการทำบุญนี้เองที่ทำให้สามารถสืบต่ออายุพระพุทธศาสนามาจนถึงปัจจุบัน
4.เอกลักษณ์ทางศิลปกรรม ซึ่งจะแสดงออกมาทั้งในด้านสถาปัตยกรรม เช่น การสร้างวัด
บ้านเรือนด้านจิตรกรรม เช่น การวาดภาพฝาผนัง ด้านวรรณกรรม เช่น ไตรภูมิพระร่วง
เป็นต้น
5.การสร้างความสามัคคีในชุมชน ตัวอย่างที่เห็นได้ คือ ในวันเข้าพรรษา ชาวบ้านจะไปช่วยกันก่อเจดีย์ทราย
ซึ่งนอกจากเป็นการทำบุญแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงพลังของชุมชน
ในการที่จะทำนุบำรุงวัดในหมู่บ้านของตนให้เจริญยิ่งขึ้นอีกด้วย หรือในวันสงกรานต์
สมาชิกในครอบครัวจะร่วมกันทำความสะอาดบ้านเรือนและสิ่งของเครื่องใช้เพื่อต้อนรับวันปีใหม่
หรือในวันสำคัญทางศาสนา ชาวบ้านจะร่วมมือกันจัดเตรียมสิ่งของสำหรับไปทำบุญ
6.เอกลักษณ์ทางภาษา ชาติไทยมีภาษาเป็นของตนเอง
ภาษาไทยเป็นภาษาที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น การใช้ภาษาไทยของคนไทย มีเอกลักษณ์สำคัญคือ
การเป็นคน เจ้าบทเจ้ากลอน ซึ่งจะพบได้ในการละเล่นทั่วไป เช่น ลำตัด มโนราห์
เป็นต้น การใช้ภาษาในงานนี้ จะมีการใช้ถ้อยคำที่ลึกซึ้งกินใจ มีความหมาย และยังแฝงไปด้วยไหวพริบปฏิภาณในการคิดคำโต้ตอบอีกด้วย
7.ความยับยั้งใจและความมีระเบียบวินัย ตัวอย่างเช่น การผิดผี หมายถึง
การต้องปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ที่บรรพบุรุษได้ถ่ายทอดมา
การละเมิดกฎเกณฑ์นั้นถือว่าผิดผี
ซึ่งต้องมีการขอขมาและมีการลงโทษโดยผู้สูงอายุที่เป็นตัวแทนของบรรพบุรุษเป็นผู้แนะนำ
ตักเตือนและดำเนินการ เช่น หนุ่มสาวที่ยังไม่ได้แต่งงานกันอย่างถูกต้อง
ห้ามถูกเนื้อต้องตัวกัน
ซึ่งสิ่งนี้เป็นการสร้างวินัยและการยับยั้งชั่งใจเพื่อป้องกันไม่ให้มีการกระทำเกินกว่าสมควร
ถ้าใครประพฤติผิดถือว่า ผิดผี ต้องมีการลงโทษโดยการ เสียผี
คือมีการชดใช้การกระทำความผิดนั้นอย่างไรก็ตามวัฒนธรรมไทยดังกล่าวข้างต้น
กำลังจะถูกลบเลือนไปในสภาพปัจจุบัน
สุนทรียภาพอันเกิดจากภาษาและดนตรีที่ไพเราะเพราะพริ้งด้วยท่วงทำนองได้ถูกแทนที่ด้วยบทเพลงสมัยใหม่จากต่างชาติในวันสงกรานต์
พฤติกรรมที่แสดงออกให้เห็นถึงความเอื้ออาทร ความห่วงใย
และความปรารถนาดีที่จะมีให้แก่ผู้อื่น ความสุ๘จากการประพรมน้ำ
ถูกแทนที่ด้วยบุคคลบางกลุ่ม ไม่สนใจในความเจ็บปวดและอุบัติเหตุที่เกิดขึ้น
ในวันไหว้ครูกิจกรรมหลายอย่างได้ถูกยกเลิกไป
พิธีอันเคยสง่างามถูกกระทำแบบง่ายๆให้เสร็จสิ้นโดยเร็วถึงแม้ว่าจะเป็นไปได้ยากที่เราจะเรียกร้องให้นำเอาวัฒนธรรมไทยอันดีงามทั้งหมดในอดีตกลับคืนมาสู่ยุคปัจจุบัน
แต่ถ้าคนไทยได้ตระหนักถึงคุณค่าและดัดแปลงให้เหมาะกับยุคสมัย
ก็เท่ากับว่าเราเป็นผู้หนึ่งที่ได้จรรโลงวัฒนธรรมอันดีงามให้คงอยู่คู่กับสังคมไทยสืบไป
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น