วัฒนธรรมในภูมิภาคต่างๆ ของไทย

วัฒนธรรมในภูมิภาคต่างของไทย

วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคเหนือ 
                        
  (ภาพการฟ้อนเล็บ วัฒนธรรมภาคเหนือ)
       เป็นวัฒนธรรมที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว โดยเฉพาะวัฒนธรรมของชาวล้านนาที่ยังคงยึดมั่นในขนบธรรมประเพณีของพระพุทธศาสนา ที่แสดงออกถึงมิตรไมตรีและความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกน มีการสืบทอดมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน จึงถือเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญยิ่งที่คนคนท้องถิ่นในภาคเหนือยังรักษาไว้จนถึงปัจจุบัน ในที่นี้จะกล่าวถึงตัวอย่างวัฒนธรรมที่สำคัญ
1.ด้านอาหาร โดยตัวอย่างของวัฒนธรรมในด้านนี้ ได้แก่ ระเพณีเลี้ยงข้าวแลงขันโตกหรือกิ๋นข้าวแลงขันโตก เป็นประเพณีของชาวล้านนา ผู้ที่อาศัยอยู่ในจังหวัดทางภาคเหนือตอนบนและใช้ภาษไทยเหนือเป็นภาพูด มีการตกแต่งสถานที่อย่างสวยงามมีอาหารภาคเหนือมากมายหลายชนิด เจ้าภาพเหรื่อจะแต่งกายแบบพื้นเมืองทั้งชายหญิง งานเลี้ยงขันโตกจะเริ่มด้วยขบวนแห่นำขบวนขันโตกด้วยสาวงามช่างฟ้อน ตามมาด้วยคนหาบกระติบหลวง ขบวนแห่นี้จะผสมผสานกับเสียงดนตรีโห่ร้องแสดงความชื่นชมยินดี เมื่อมาถึงงานเลี้ยงแล้วก็จะนำกระติบหลวงไปวางไว้กลางงานแล้วนำข้าวนึ่งในกระติบแบ่งปันใส่กระติบเล็กๆแจกจ่ายไปตามโตกต่างๆ จนทั่วบริเวณงาน ซึ่งมีโตกใส่สำหรับกับข้าวเตรียมไว้ก่อนแล้ว อาหารที่เลี้ยงกันนั้นนอกจากจะมีข้าวนึ่งเป็นหลักแล้ว ก็มีกับข้าวแบบของชาวเหนือ คือ แกงฮังเล แกงอ่อม แกงแค ไส้อั่ว น้ำพริก อ่อง น้ำพริกหนุ่ม แคบหมู ผักสด และของหวาน เช่น ขนมปาด ข้าวแต๋น เป็นต้น
2.ด้านศาสนาและลัทธิความเชื่อ  ตัวอย่างวัฒนธรรมในด้านนี้  ได้แก่ งานทำบุญทอดผ้าป่าแถว  งานทำบุญตานก๋วยสลากหรือ การทำบุญสลากภัต (ทานสลาก)  ประเพณีการสืบชะตา เป็นต้น
1.การทำบุญทอดผ้าป่าแถวจะกระทำกันในเขตตัวอำเภอและอำเภอรอบนอกของจังหวัดกำแพงเพชร  โดยกระทำพร้อมกันทุกวัดในคืนวันลอยกระทงหรือวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12  โดยชาวบ้านแต่ละครอบครัวเรือนจะจัดหากิ่งไม้  เทียนไข ผ้า ข้าวสาร อาหารแห้ง ผลไม้ และบริขารของใช้ต่าง ๆ พอตกกลางคืนเวลาราว 19.00 น.  ชาวบ้านจะนำองค์ผ้าป่าไปไว้ในลานวัด  จัดให้เป็นแนวเป็นระเบียบแล้วนำผ้าพาดบนกิ่งไม้  นำเครื่องไทยธรรมที่เตรียมไว้มาวางใต้กิ่งไม้พอถึงเวลามรรคนายกวัดจะป่าวร้องให้เจ้าของผ้าป่าไปจับสลากรายนามพระภิกษุ  เมื่อได้นามพระภิกษุแล้วเจ้าของผ้าป่าจะเอามากลัดติดไว้กับผ้าที่ห้อยอยู่บนกิ่งไม้ของตน  และพากันหลบไปแอบอยู่ในเงามืดเฝ้ารอดูด้วยความสงบว่าพระภิกษุรูปใดจะมาชักผ้าป่าของตน  เมื่อพระภิกษุชักผ้าป่าเรียบร้อยแล้ว  พระภิกษุทุกรูปจะไปนั่งรวมกันแล้วให้ศีลเจริญพระพุทธมนต์  อวยพร  เมื่อเสร็จสิ้นเสียงพระสงฆ์  มหรสพต่าง ๆ  จะทำการแสดงทันที
2.งานทำบุญตานก๋วยสลากหรือการทำบุญสลากภัต (ทานสลาก) จะทำในช่วงวันเพ็ญเดือน 12 (วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12) ถึงเดือนเกี๋ยงดับ (วันแรม 15 ค่ำ เดือน 12) หรือราวเดือนตุลาคม – พฤศจิกายนของทุกปี  ชาวเหนือหรือชาวล้านนาไทยจะทำบุญตานก๋วยสลากหรือกิ๋นก๋วยสลาก โดยวันแรกแต่ละครอบครัวหรือคณะศรัทธาจะเตรียมงานต่าง ๆ หรือเรียกว่า “วันดา”  ผู้หญิงจะไปจ่ายตลาดหาซื้อของ  ส่วนผู้ชายจะเหลาตอกสานก๋วยไว้หลาย ๆ  ใบจากนั้นนำมากรุด้วยใบตองหรือกระดาษปิดมัดก๋วยรวมกันเป็นมัดๆ สำหรับเป็นที่จับ  ตรงส่วนที่ราบไว้นี้ชาวบ้านจะเสียบไม้ไผ่และสอดเงินไว้เป็นเสมือนยอดก๋วยสลากมี 2 ชนิด คือ ก๋วยเล็กจะมียอดเงินไม่มากนักใช้เพื่ออุทิศส่วนกุศลไปให้ผีปู่ย่าตายายที่ล่วงลับหรืออุทิศส่วนกุศลเพื่อตนเองในภายภาคหน้า  ส่วนอีกชนิดหนึ่งเป็นก๋วยใหญ่  เรียกว่าสลากโจ้ก (สลากโชค)  ส่วนมากจะจัดทำขึ้น  เพื่อให้อานิสงส์เกิดแก่ตนเอง  ในภพหน้าจะได้มีกินมีใช้  มั่งมีศรีสุขเหมือนในชาตินี้
งานทำบุญตานก๋วยสลากหรืองานบุญสลากภัตมีคติสอนใจให้คนเรารู้จักรักใคร่สามัคคีกัน  เกิดความปรองดองในหมู่ญาติพี่น้องและเพื่อนบ้าน  ขณะเดียวกันในทางคติธรรมจะมีคติสอนใจพระสงฆ์และสามเณรมิให้ยึดคติในลาภลักการะทั้งหลาย  โดยเฉพาะก๋วยสลากที่ญาติโยมนำมาถวายนั้นอาจมีเล็กบ้างใหญ่บ้าง  มีเงินมากน้อยต่างกัน การจับสลากจึงยังผลให้พระสงฆ์รู้จักตัดกิเลส  การทำบุญโดยไม่เจาะจงพระผู้รับสิ่งบริจาคนี้  ถือเป็นการทำความดีเพื่อความดีจริง ๆ ตามอุดมการณ์  เพื่อความสุขของจิตใจโดยแท้
3.งานประเพณีการสืบชะตาหรือการต่ออายุ ได้รับอิทธิพลจากพระพุทธศาสนากระทำขึ้นเพื่อยืดชีวิตด้วยการทำพิธีเพื่อให้เกิดพลังรอดพ้นความตายได้  เป็นประเพณีที่คนล้านนานิยมกระทำจนถึงทุกวันนี้  ซึ่งแบ่งออกเป็น 3 ประเภท คือ ประเพณีการสืบชะตาคน  ประเพณีการสืบชะตาบ้าน  และสิบชะตาเมือง การสืบชะตาคนจะกระทำขึ้นเมื่อเกิดการเจ็บป่วย  หรือหมอดูทายทักว่าชะตาไม่ดีชะตาขาด  ควรจะทำพิธีสะเดาะเคราะห์และสืบชะตาต่ออายุเสีย  จะทำให้แคล้วคลาดจากโรคภัยและอยู่ด้วยความสวัสดีต่อไป
ซึ่งเป็นเช่นเดียวกับการสืบชะตาบ้านและการสืบชะตาเมืองอันเป็นอุบายให้ญาติพี่น้องและผู้เกี่ยวช้องมารวมกัน เพื่อให้กำลังใจและปรึกษาหารือในการแก้ปัญหาบ้านปัญหาเมืองให้สำเร็จลุล่วงไป
ตัวอย่างที่กล่าวมาข้างต้นเป็นวัฒนธรรมที่ผู้คนทางภาคเหนือของไทย  ได้กระทำสืบทอดกันมานาน  นอกจากนี้  ยังมีอีกมากมาย  เช่น  ปอยส่างลองหรืองานบวชลูกแก้วเป็นสามเณรในพุทธศาสนาของชาวไทยใหญ่ในจังหวัดแม่อ่องสอน  ปอยหลวงหรืองานมหกรรมการทำบุญของล้านนา  งานสมโภชพระพุทธชินราชที่จังหวัดพิษณุโลกงานทำขวัญผึ้งของชาวอำเภอคีรีมาศ  จังหวัดสุโขทัย  งานแข่งเรือที่เป็นตำนานกีฬาของชาวบ้านลุ่มน้ำในจังหวัดพิจิตร พิษณุโลก  และน่าน  งานอุ้มพระดำน้ำเพื่อความอุดมสมบูรณ์ของชาวจังหวัดเพชรบูรณ์  งานสู่ขวัญเพื่อสร้างพลังใจของชาวบ้าน  ซึ่งเป็นประเพณีธรรมเนียมไทยทั่วทุกภาค  การตีเหล็กน้ำพี้ของตำบลน้ำพี้  อำเภอทองแสนขัน  จังหวัดอุตรดิตถ์  ประเพณีสงเคราะห์ของชาวล้านนา  พิธีเลี้ยงผีปู่ย่าซึ่งเป็นผีคุ้มครองจริยธรรมของสตรีล้านนา เป็นต้น

วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคกลาง


ภาพการรําเกี่ยวข้าว วัฒนธรรมภาคกลาง)

วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคกลางส่วนใหญ่เป็นวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกันกับวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคเหนือ  แต่มีลักษณะที่แตกต่างกันออกไปบ้าง  เนื่องจากสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ สังคม และค่านิยมในท้องถิ่นที่แตกต่างกัน  ลักษณะวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีโดยรวมมีความเกี่ยวเนื่องกับพิธีกรรมในพระพุทธศาสนา  และพิธีกรรมเกี่ยวกับคามเชื่อในการดำเนินชีวิต  ซึ่งถือว่าเป็นเอกลักษณ์ที่สำคัญของวัฒนธรรมไทย  ตัวอย่างของวัฒนธรรมทางภาคกลางที่สำคัญ  มีดังนี้
1.ด้านศาสนาและลัทธิความเชื่อ เช่น  ประเพณีการรับบัวโยนบัว  การบูชารอยพระพุทธบาทเป็นต้น
1.ประเพณีรับบัวโยนบัว มีขึ้นที่อำเภอบางพลี  จังหวัดสมุทรปราการ  เป็นประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมากว่า 80 ปี   โดยชาวบ้านเชื่อตามตำนานว่า  หลวงพ่อโตลอยตามแม่น้ำเจ้าพระยามาหยุดที่ปากคลองสำโรงเป็นการแสดงเจตจำนงอันแน่วแน่ว่าจะจำพรรษาอยู่ในละแวกนั้นอย่างแน่นอน  ชาวบ้านจึงช่วยกันรั้งนิมนต์เข้ามาจนถึงวัดบางพลีใหญ่ใน  ซึ่งเป็นที่ประดิษฐานในปัจจุบัน  แล้วอัญเชิญขึ้นไว้ในโบสถ์  หลวงพ่อโตจึงเป็นหลวงพ่อของชาวบางพลีตั้งแต่นั้นมา
หลังจากนั้นในวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 ของทุกปี  ชาวบางพลีจะนิมนต์หลวงพ่อขึ้นเรือแล่นไปให้ชาวบ้านได้มนัสการ   ชาวบ้านจะพากันมาคอยมนัสการหลวงพ่ออยู่ริมคลองและเด็ดดอกบัวริมน้ำโยนเบา ๆ  ขึ้นไปบนเรือของหลวงพ่อ  ต่อมางานรับบัวและโยนบัวจึงกลายเป็นประเพณีสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
 2.การบูชารอยพระพุทธบาท  จังหวัดสระบุรี  โดยรอยพระพุทธบาทเป็นปูชนียสถานที่สำคัญยิ่งแห่งหนึ่ง
เพราะเป็นมรดกชิ้นเอกของชาติและศาสนา   เป็นที่รู้จักแพร่หลายของประชาชน  และเป็นที่เคารพสักการะของพุทธศาสนิกชนทั่วไป  โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเทศกาลบูชาพระพุทธบาท คือ ช่วงวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 3 ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 3 กับช่วง วันขึ้น1 ค่ำเดือน 4 ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 4  ประชาชนทั่วทุกสารทิศทั้งในเพศบรรพชิตและคฤหัสถ์ต่างหลั่งไหลมามนัสการรอยพระพุทธบาทในพระมณฑป  อันเป็นการเชื่อมโยงความรู้สึกนึกคิดของพุทธบริษัททั้งหลายให้รู้สึกผูกพันต่อพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  ผู้เป็นศาสดาอย่างเหนียวแน่นตลอดมา
2.ด้านที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตทางการเกษตร  ได้แก่
1.การทำขวัญข้าวเป็นประเพณีที่ยังคงทำกันอย่างกว้างขวางในหมู่ของคนไทยภาคกลาง   ไทยพวน  และไทยอีสานทั่วไป  โดยจะนิยมทำกันเป็นระยะ  คือ  ก่อนข้าวออกรวง  หลังจากนวดข้าว  และขนข้าวขึ้นยุ้ง  สำหรับการเรียกขวัญก่อนข้าวออกรวงจะนิยมทำกันตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 เป็นต้นไป  ผู้ที่จะเรียกขวัญจะเป็นผู้หญิงซึ่งจะแต่งกายให้สวยงามกว่าธรรมดา  พอถึงที่นาของตนก็จะปักเรือนขวัญข้าวลงในนา  จากนั้นก็นำผ้าซิ่นไปพาดกับต้นข้าว เอาขนมนมเนย  ของเปรี้ยว  ของเค็ม เครื่องประดับ  ของหอมต่างๆ  หมาก พลู  และบุหรี่  ใส่ลงไปในเรือขวัญข้าว  จากนั้นก็จุดธูป 8 ดอก เทียน 1 เล่ม  และนั่งพนมมือเรียกขวัญข้าว  พอเสร็จพิธีเรียกขวัญแล้วผู้ทำพิธีเรียกขวัญก็จะเก็บข้าวของที่มีค่าบางส่วนกลับบ้าน  ส่วนเครื่องสังเวยอื่น ๆ  ก็จะทิ้งไว้ในเรือนขวัญข้าวนั้นต่อไป  การทำขวัญข้าวเป็นความเชื่อของชาวนาว่าจะทำให้ข้าวออกรวงมาก  ซึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่ทำกันมาแต่ดั้งเดิม
3.ด้านยาและการรักษาพื้นบ้าน  จากการศึกษาค้นคว้าและรวบรวมตำรายาพื้นบ้านในจังหวัดชลบุรี  โดยได้มีการสัมภาษณ์แพทย์แผนโบราณ  และค้นคว้าจากตำราที่บันทึกอยู่ในใบลาน  สมุดข่อยขาว สมุดข่อยดำ  พบว่ามีตำรายาไทยแผนโบราณทั้งหมด 318 ขนาน  ที่ยังใช้อยู่ในปัจจุบันมี 138 ขนาน  จำแนกตามคุณสมบัติ เช่น  ยาแก้ไข้ 12 ขนาน  ยาแก้ท้องเสีย 6 ขนาน  ยาขับโลหิต  29 ขนาน  ยาแก้ไอ 1 ขนาน  ยาแก้ท้องขึ้นท้องเฟ้อ 2 ขนาน  ยาแก้ลม 11 ขนาน  เป็นต้น  ยาส่วนใหญ่เป็นพืชสมุนไพร  และแร่ธาตุ
            นอกจากนี้  ยังมีตัวอย่างประเพณีวัฒนธรรมของคนในภาคกลางอีกจำนวนมาก  ที่ถือปฏิบัติกันมาช้านาน  เช่น งานพิธีการทิ้งกระจาดของจังหวัดสุพรรณบุรี  งานประเพณีแห่เจ้าพ่อเจ้าแม่ปากน้ำโพ  จังหวัดนครสวรรค์  งานประเพณีตักบาตรเทโวของจังหวัดอุทัยธานี  ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง จังหวัดฉะเชิงเทรา
ประเพณีก่อเจดีย์ทราย จังหวัดฉะเชิงเทรา  ประเพณีกวนข้าวทิพย์หรือข้าวมธุปายาส จังหวัดชัยนาท  และ
ประเพณีสู่ขวัญสู่ข้าว จังหวัดนครนายก  เป็นต้น

วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

                                                (ภาพการเซิ้งบั้งไฟ วัฒนธรรมตะวันออกเฉียงเหนือ)

                  ชนพื้นเมืองถิ่นอีสานดำรงชีวิตอย่างเรียบง่าย  มีโครงสร้างทางสังคมและวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์บนพื้นฐานประวัติศาสตร์อันยาวนาน  วัฒนธรรมต่าง ๆ   ของภาคอีสานเป็นการนำแนวความคิด  ความศรัทธา  และความเชื่อที่ได้สั่งสมและสืบทอดเป้นมรดกต่อกันมา  ตัวอย่างวัฒนธรรมในด้านต่างๆ มีดังนี้
1.ด้านอาหาร  วัฒนธรรมเกี่ยวกับพืชผักและกรรมวิธีในการปรุงอาหารของชาวอีสานพบว่า  พืชผักพื้นบ้านที่ชาวบ้านบริโภคมีจำนวน  99  ชนิด  แบ่งออกเป็นพืชน้ำ 10 ชนิด  พืชบก 89 ชนิด  พืชเหล่านี้มีบริโภคตลอดปี 57 ชนิด ส่วนที่เหลือเป็นพืชผักตามฤดูกาลพืชผักดังกล่าว  กองโภชนาการ  กระทรวงสาธารณสุข
ได้วิเคราะห์สารอาหารแล้วจำนวน 44 ชนิด ซึ่งต่างให้คุณค่าทางโภชนาการมากมาย  บางชนิดเป็นยาสมุนไพรสามารถป้องกันรักษาโรคภัยต่างๆ ได้  สำหรับกรรมวิธีการปรุงอาหารพบว่าชาวอีสานมีวิธีปรุงอาหารโดยเก็บพืชผักมาประกอบรวมกับเนื้อสัตว์
แล้วทำให้สุก  เช่น  นึ่ง  ต้ม ย่าง เป็นต้น  และเรียกอาหารที่ประกอบแล้วได้ 18 วิธี เช่น แกงอ่อม อ๋อ หมกยำ  ส่า คั่ว  หลู้ ป่น หลน ซุบ เนียน ลาบ ก้อย แจ่ว หลาม เป็นต้น
ส่วนการถนอมอาหารนั้นใช้เทคโนโลยีพื้นบ้าน  ส่วนใหญ่เป็นการนำอาหารสดมาตากแห้งและใช้วิธีหมักตามธรรมชาติ
2.ด้านศาสนาและลัทธิความเชื่อ เช่น บุญบั้งไฟ  การแห่ผีตาโขน  เป็นต้น
1. ประเพณีบุญบั้งไฟ เป็นประเพณีสำคัญของชาวอีสาน  นิยมทำในงานเทศกาลเดือนห้าฟ้าหก (ราวเดือนเมษายน-พฤษภาคมของปี)  ในช่วงนี้ชาวนาจะเตรียมไถนาจึงขอให้ฝนตกจากความเชื่อในเรื่องของสิ่งลี้ลับและเทวดาหรือพญาแถนที่อยู่บนสวรรค์  สามารถบันดาลให้ฝนตกฟ้าร้องได้  จึงมีการจัดพิธีบูชาพญาแถนทุกปีด้วยการทำบั้งไฟ
2.การแห่ผีตาดโขนที่อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย  ผู้เล่นจะนำรูปหน้ากากที่มีลักษณะน่าเกลียดน่ากลัวมาสวมใส่และแต่งตัวมิดชิด  แล้วเข้าขบวนแห่แสดงท่าทางต่าง ๆ  ในระหว่างมีงานบุญประเพณีประจำปีของท้องถิ่น  การแห่ผีตาโขนหรือที่อำเภอด่านซ้ายเรียกว่า ”บุญหลวง”  เป็นการรวมเอาบุญประเพณีบุญพระเวสและบุญบั้งไฟเข้าด้วยกัน  โดยจะจัดขึ้นในช่วงวันข้างขึ้น เดือน 8 นิยมทำกัน 3 วัน
 โดยวันแรกเป็นวันที่ประชาชนจากหมู่บ้านต่าง ๆ เดินทางมาร่วมงานซึ่งปกติจะนำบั้งไฟมาด้วย  พิธีจะเริ่มตอนเช้าตรู่โดยทำพิธีอัญเชิญพระอุปคุตเข้ามาประดิษฐานในวัดโพนชัย  เพราะเชื่อว่าจะสามารถป้องกันเหตุเภทภัยต่างๆ  ที่จะเกิดในงานได้  จากนั้นก็มีการละเล่นทั้งกลางวันและกลางคืน  เช่น  เซิ้งบั้งไฟ  ฟ้อนรำ  การแสดงผีตาโขน  เป็นต้น  จนล่วงถึงวันที่สองของงาน  การละเล่นก็ยังดำเนินต่อไป  ในเย็นวันที่สองจะมีการจุดบั้งไฟ  และวันที่สามพระจะเทศน์สังกาสและเรื่องพระเวสสันดรทั้งวัน
            นอกจากตัวอย่างงานประเพณีที่กล่าวมาข้างต้นแล้ว  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังมีประเพณีงานบุญและเทศกาลที่สำคัญอีกจำนวนมาก  เช่น  งานบุญพระเวสหรือบุญมหาชาติ  จังหวัดร้อยเอ็ด ซึ่งกระทำกันหลังออกพรรษา  งานบุญข้าวสากหรือบุญเดือนสิบ  จังหวัดยโสธร  ประเพณีการแห่ปราสาทผึ้ง  จังหวัดสกลนคร  และประเพณีไหลเรือไฟ  จังหวัดนครพนม เป็นต้น
3.ด้านที่เกี่ยวกับการดำรงชีวิตทางการเกษตร ได้แก่  งานบุญคูนลานเมื่อชาวนาในพื้นถิ่นอีสานเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จ ก็จะมัดข้าวที่เกี่ยวเป็นฟ่อน  และนำฟ่อนข้าวมารวมกองไว้ที่ลานเพื่อนวด  และเมื่อนวดข้าวเสร็จก็นิยมทำกองข้าวที่นวดให้สูงขึ้นจากพื้นลานเรียกว่า “คูนลาน”  ผู้ที่ได้ข้าวมากก็มักจะจัดทำบุญกองข้าวที่นวดให้สูงขึ้นจากพื้นลานเรียกว่า “คูนลาน”  ผู้ที่ได้ข้าวมากก็มักจะจัดทำบุญกองข้าวขึ้นที่ลาน
 ชาวอีสานถือว่าบุญคูนลานเป็นประเพณีอย่างหนึ่งในฮิตสิบสองหรืองานทำบุญสำคัญในรอบหนึ่งปีของคนในภูมิภาคนี้  งานบุญคูนลานก็คืองานทำขวัญข้าวก่อนขนข้าวมาสู่ยุ้งฉางชาวบ้านจึงทำบุญเพื่อเป็นสิริมงคล  เพิ่มความมั่งมีศรีสุขแก่ตนและครอบครัว  และเป็นการอัญเชิญขวัญข้าว  คือ  พระแม่โพสพให้มาอยู่ประจำข้าว  การทำนาข้าวจะได้ผลอุดมสมบูรณ์และผู้คนจะไม่อกอยาก


วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้

                                                          (ภาพการรำโนรา วัฒนธรรมภาคใต้)


     ภาคใต้มีประวัติศาสตร์ความเป็นมาอันยาวนาน  เป็นแหล่งรับอารยธรรมจากพระพุทธศาสนา
ศาสนาพราหมณ์-ฮินดู  และศาสนาอิสลาม ซึ่งได้หล่อหลอมเข้ากับความเชื่อดั่งเดิม  ก่อให้เกิดการบรูณาการเป็นวัฒนธรรมท้องถิ่นภาคใต้
1.ด้านอาหาร  ได้แก่  ประเพณีกินผักหรือที่ชาวบ้านและชาวจีนที่อยู่ในจังหวัดภูเก็ตเรียกกันว่า  “เจี๊ยฉ่าย
เป็นประเพณีที่คนจีนนับถือมาช้านาน  โดยเฉพาะคนจีนฮกเกี้ยนวันประกอบพิธีจะตรงกับวันขึ้น 1 ค่ำ เดือน 9 ถึงวันขึ้น 9 ค่ำ เดือน 9 ตามปฏิทินจีนของทุกๆ ปี
 ประเพณีกินผักได้เริ่มขึ้นเป็นครั้งแรกที่หมู่บ้านไล่ทู (ไนทู)  ซึ่งปัจจุบัน คือ หมู่บ้านกะทู้  ตำบลกะทู้
จังหวัดภูเก็ต ในสมัยนั้นคนในหมู่บ้านส่วนใหญ่เป็นชาวจีนที่อพยพเข้ามาทำเหมืองแร่ในประเทศไทยต่อมาได้มีคณะงิ้วจากประเทศจีนเดินทางมาเปิดการแสดงในหมู่บ้าน  แต่เมื่อทำการแสดงไปได้ระยะหนึ่งก็เกิดโรคระบาดขึ้นในหมู่บ้าน  ทำให้คณะงิ้วนึกขึ้นได้ว่าพวกตนไม่ได้ประกอบพิธีเจี๊ยฉ่าย  (กินผัก)
ที่เคยปฏิบัติกันมาทุกปีขณะอยู่ที่เมืองจีนเลยตั้งแต่ย้ายมาอยู่ที่ประเทศไทย  คณะงิ้วและชาวบ้านจึงได้ตกลงใจกันประกอบพิธีเจี๊ยฉ่ายขึ้นที่โรงงิ้ว  ต่อมาโรคภัยไข้เจ็บต่างๆ ในหมู่บ้านก็หายไปหมดสิ้น
ปัจจุบันพิธีกินผัก (เจี๊ยฉ่าย) ของชาวภูเก็ตได้ปฏิบัติสืบทอดกันมาทุกปี  ถือว่าเป็นประเพณีอันดีงามของชาวจังหวัดภูเก็ตอนึ่ง การใช้ประโยชน์จากพืชผักพื้นบ้านภาคใต้ในมิติวัฒนธรรมพบว่า  พืชผักจำนวน 103 ชนิด  ในจังหวัดนครศรีธรรมราชนั้น  มีจำนวน 47 ชนิดที่สามารถนำมาจำแนกตามคุณประโยชน์  ดังนี้
1.พืชผักที่มีสรรพคุณทางสมุนไพร  22 ชนิด  เช่น  กำลังความถึก ชะเมา ชะเลือด เดือยบิด ตาก ตีเมียเบื่อย่าง เถาคัน เป็นต้น
2.พืชผักที่มีสรรพคุณสมุนไพร  และใช้ประโยชน์ในบ้านหรือทางสถาปัตยกรรม 13 ชนิด เช่น ก้างปลาแดง
ขลู่จิกง่วงนอน จิกนา ชะมวงควาย นนทรี ผักหนาม เป็นต้น
3.พืชผักพื้นบ้านที่ใช้ประโยชน์ในบ้านหรือทางสถาปัตยกรรม 12 ชนิด  เช่น กะสัง  ชีเงาะ ตุมพระ น้ำนอง
ผักกูดทะเล หงอนไก่ เป็นต้น
              นอกจากนี้  พืชผักพื้นบ้านในจังหวัดนครศรีธรรมราช จำนวน 103 ชนิด ที่ชาวบ้านใช้บริโภคเป็นประจำในครัวเรือน  พบว่า  มีการนำไปใช้ประโยชน์เป็นอาหารได้ 3 กลุ่ม  คือใช้ปรุงอาหาร  ใช้รับประทานสด ลวก ดอง (ผักเหนาะ)  และใช้ได้ทั้งปรุงอาหารและรับประทานสดก็ได้
 พืชผักพื้นบ้านต่าง ๆ นั้น  เมื่อบริโภคแล้วจะให้ประโยชน์ต่อร่างกายช่วยควบคุมภาวะธาตุในร่างกายให้อยู่ในภาวะสมดุล  ทำให้ร่างกายแข็งแรง  ไม่เจ็บไข้ได้ป่วยข้อมูลดังกล่าวจึงสะท้อนให้เห็นถึงวิถีชีวิตแห่งการพึ่งตนเองตามแนวทางการดูแลสุขภาพโดยเฉพาะพฤติกรรมการบริโภค
2.ด้านศาสนาและลัทธิความเชื่อ เช่น ประเพณีลากพระ ประเพณีสารทเดือนสิบ เป็นต้น
1.ประเพณีลากพระ  ชักพระ  หรือแห่พระ  ชาวใต้ปฏิบัติกันมานานตั้งแต่ครั้งโบราณกาล  ชาวบ้านที่เป็นพุทธศาสนิกชนจะพร้อมใจกันอัญเชิญพระพุทธรูปจากวัดขึ้นประดิษฐานบน  “นมพระ” หรือบุษบกที่วางอยู่ตรงกลางร้านไม้  ร้านไม้นี้จะวางไว้บนไม้ขนาดใหญ่สองท่อนอีกทีหนึ่ง หรือใช้นมพระวางบนล้อเลื่อน รถ หรือเรือ แล้วลากหรือชักแห่ไปตามถนนหนทางตามแม่น้ำลำคลอง  หรือริมฝั่งทะเล  เคยมีผู้สันนิษฐานว่าประเพณีลากพระเกิดขึ้นในประเทศอินเดียตามลัทธิของพราหมณ์ที่นิยมเอาเทวรูปออกแห่แหนในโอกาสต่างๆ  และชาวพุทธได้นำเอาประเพณีนั้นมาดัดแปลง ในกรณีภาคใต้ของไทย  ชาวบ้านจะตระเตรียมงานในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 และเริ่มทำการลากพระในตอนเช้าตรู่ของวันแรม 1 ค่ำ เดือน 11 อันเป็นวันออกพรรษาโดยประชาชนจะเดินทางไปวัดเพื่อนำภัตตาหารไปใส่บาตรที่จัดเรียงไว้ตรงหน้าพระลาก เรียกว่า “ตักบาตรหน้าล้อ
              เมื่อพระฉันภัตตาหารเช้าเสร็จแล้ว  ชาวบ้านจะนิมนต์พระภิกษุในวัดขึ้นนั่งประจำเรือพระ  พร้อมทั้งอุบาสกและศิษย์วัดที่จะติดตามและประจำเครื่องประโคม  อันมีโพน ฆ้อง โหม่ง ฉิ่ง ฉาบ แล้วชาวบ้านก็จะช่วยกันลากพระออกจากวัด  ขณะที่ลากพระไปประชาชนที่รออยู่จะนำต้ม (ข้าวเหนียวห่อใบกะพ้อทำเป็นรูปสามเหลี่ยม) มาแขวนที่ล้อเลื่อนหรือรถเพื่อทำบุญกันไปตลอดทาง  การลากพระนี้อาจขยายออกเป็น
2 – 3  วัน หรือ 7 – 10 วัน  แล้วแต่ท้องที่
2.ประเพณีสารทเดือนสิบของจังหวัดนครศรีธรรมราช ถือเป็นงานประเพณีที่ยิ่งใหญ่  ได้รับอิทธิพลมาจากศาสนาพราหมณ์ – ฮินดู  จัดขึ้นเพื่ออุทิศส่วนบุญส่วนกุศลให้แก่ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
3.ด้านศิลปะ  ได้แก่  การรำโนราซึ่งเป็นศิลปะพื้นบ้านที่เก่าแก่ของภาคใต้  โดยนอกจากจะแสดงเพื่อความบันเทิงแล้วยังแสดงเพื่อประกอบพิธีกรรมที่เรียกว่า โนรา  โรงครูหรือโนราลงครู  อีกด้วย  พิธีกรรมนี้มีจุดมุ่งหมายในการจัดเพื่อไหว้ครูหรือไหว้ตายายโนรา  อันเป็นการแสดงความกตัญญูรู้คุณต่อครู  เพื่อทำพิธี
 แก้บน  เพื่อทำพิธียอมรับเป็นศิลปินโนราคนใหม่  และเพื่อประกอบพิธีเบ็ดเตล็ดต่างๆ
  ประเพณีการรำโนรามีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของชาวบ้านทั้งนี้  เพราะโนราโรงครูเป็นพิธีกรรมที่เป็นความเชื่อทางพระพุทธศาสนาระดับชาวบ้าน  อันหมายถึงความเชื่อในหลักคำสอนของพระพุทธศาสนาซึ่งผสมผสานเข้ากับลัทธิพราหมณ์-อินดู  และความเชื่อในเรื่องไสยศาสตร์หรือผีสางเทวดา  อันรวมไปถึงการเซ่นไหว้บรรพบุรุษการเข้าทรง  และพิธีกรรมทางความเชื่ออื่นๆ
            นอกจากนี้  ประเพณีของชาวไทยมุสลิมทางภาคใต้ เช่น การเกิด โกนผมไฟ แต่งงาน การตาย เป็นต้น
ล้วนมีเอกลักษณ์พิเศษและเป็นเรื่องที่น่าสนใจศึกษา  เพราะในแต่ละประเพณีที่กล่าวถึงจะได้รับการยึดถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดสืบต่อกันมาอย่างไม่ขาดสาย ประเพณีเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความคิด ความเชื่อ และการปฏิบัติเฉพาะอย่างเห็นได้ชัด เช่น ประเพณีการทำศพ  สิ่งที่ต้องกระทำ คือ การอาบน้ำศพ ห่อศพ ละหมาดศพ และฝังศพ ถ้าไม่กระทำเชื่อว่าจะบาปกันทั้งหมู่บ้าน
            นอกจากประเพณีที่กล่าวถึงแล้วนั้น  ภาคใต้ของไทยยังมีประเพณีอื่นๆ อีก เช่น การตักบาตรธูปเทียนเป็นการทำบุญด้วยธูปเทียนและดอกไม้  เนื่องในเทศกาลเข้าพรรษา  เพื่อให้พระสงฆ์ที่จำพรรษานำธูปเทียนใช้บูชาพระรัตนตรัยตลอดพรรษา  ประเพณีแห่ผ้าขึ้นพระธาตุเป็นประเพณีที่ชาวนครศรีธรรมราชร่วมมือร่วมใจกันบริจาคเงินทองตามกำลังศรัทธาซื้อผ้ามาเย็บต่อกันเข้าเป็นแถบยาวนับร้อยเมตรแล้วใช้แถบผ้านั้นไปพับโอบรอบฐานองค์พระบรมธาตุเจดีย์  อันเป็นเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุและเป็นที่นับถือของชาวใต้  ประเพณีแห่เจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวเป็นงานสมโภชเจ้าแม่ลิ้มกอเหนี่ยวโดยจังหวัดปัตตานีจะให้ความสำคัญกับงานนี้เป็นพิเศษ  ประเพณีลาซังซึ่งจัดขึ้นเพื่อบวงสรวงแสดงความกตัญญูต่อพระแม่โพสพ เป็นต้น
            ขนบธรรมเนียมประเพณี ความเชื่อ และศาสนา  ที่มีอยู่ในแต่ละท้องถิ่นเป็นวัฒนธรรมเฉพาะของแต่ละท้องถิ่นที่มีอยู่ในภูมิภาคนั้น ๆ  จึงถือเป็นหัวข้อที่น่าศึกษา  เพราะหากคนไทยและเยาวชนไทยตระหนักและเรียนรู้วัฒนธรรมไทย  จะก่อให้เกิดความสำนึกและความภูมิใจในความเป็นไทยอันจะนำไปสู่การสร้างสรรค์ร่วมกัน และพัฒนาให้ทั่วทุกภูมิภาคของไทยเจริญรุ่งเรืองต่อไปได้




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น